ปีนี้ย่านพระนครของปู่มาใน ธีม "มิตร บำรุงเมือง Live" ที่มีกิจกรรมกระจายอยู่ทั่วย่านพระนคร กว่า 40 โปรแกรม ร่วมกับศิลปินมากกว่า 30 ทีม ปู่เลยรวมกิจกรรมทั้งหมดของย่านพระนคร ให้มาเที่ยวชมเพลิน ๆ เดินกันตั้งแต่เช้า - เย็น
เมื่อครั้งอดีต ชาวพระนครต้องดื่มกินน้ำจากแม่น้ำลำคลอง ไม่เว้นแม้กระทั่งชาววัง โดยชาววังนั้นจะเสวยน้ำจากต้นน้ำเพชรบุรีผ่านการขนถ่ายมาเก็บสำรองไว้ในโอ่ง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเล็งเห็นว่ากรุงเทพฯควรมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้อย่างถูกสุขลักษณะ จึงโปรดให้ ช่างผู้ชำนาญการประปามาจากฝรั่งเศส มาวางแผนการประปาของกรุงเทพฯ สร้างที่ทำการประปาขึ้น 2 แห่งและวางระบบท่อเชื่อมโยงกัน โดยเริ่มต้นจากคลองขุดที่ส่งน้ำมาจากปทุมธานีเข้ามาถึงโรงกรองน้ำที่สามเสน แล้วจึงส่งน้ำนำมาพักไว้ที่หอเก็บน้ำประปาแม้นศรีแห่งนี้ เพื่อแจกจ่ายน้ำให้ชาวพระนครต่อไป ต่อมาการประปาสยามจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2452 และเปิดกิจการขึ้นในปี พ.ศ.2457
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านการจัดตั้งการปกครองรูปแบบเทศบาลในจังหวัดพระนครในปี พ.ศ.2476 สู่การก่อสร้างที่ทำการเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร (ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) พร้อมทั้งรื้ออาคารตึกแถวด้านหน้าที่ติดกับถนนบำรุงเมืองออกเพื่อทำเป็นลานกว้างสำหรับเล่นกีฬา และพัฒนาเป็นลานคนเมืองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการสร้างอาคารแห่งนี้ก่อให้เกิดพลวัตรูปแบบใหม่แก่ถนนบำรุงเมืองผ่านกิจกรรมการค้าและการทำงานที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหาร โรงพิมพ์ ร้านถ่ายเอกสาร ร้านรับตัดชุดข้าราชการ ร้านขายเหรียญตรา ร้านรองเท้า ร้านขนม โรงแรม ผสมผสานไปกับแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ห้างร้าน น้ำหอม ถ้วยชาม ที่เคยตั้งอยู่ก่อนหน้า ทำให้ถนนเส้นนี้เกิดความมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ดินตำบลตรอกคำแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นคุกแห่งใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2433 เรียกว่ากองมหันตโทษ เป็นอาคารสองชั้นจำนวน 3 หลังเรียงตัวตามถนนมหาไชย หันอาคารออกสู่ถนน ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้ย้ายเรือนจำออกไปนอกเมือง จึงได้พัฒนาเรือนจำเก่านี้เป็นสวนรมณีนาถ มีความหมายว่า “สวนแห่งพระนางผู้เป็นที่พึ่ง” โดยยังรักษาป้อมและกำแพงเรือนจำบางส่วนไว้ การก่อสร้างได้รื้ออาคารที่คุมขังของเรือนจำออกไป 77 หลัง เหลือไว้เพียง 4 หลัง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอนุรักษ์ไว้ รวมถึงป้อมและกำแพงบางส่วน อย่างไรก็ตามการสร้างอาคารแห่งนี้ก่อให้เกิดพลวัตรูปแบบใหม่แก่ถนนบำรุงเมืองผ่านกิจกรรมการค้าและการทำงานที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหาร โรงพิมพ์ ร้านถ่ายเอกสาร ร้านรับตัดชุดข้าราชการ ร้านขายเหรียญตรา ร้านรองเท้า ร้านขนม โรงแรม ผสมผสานไปกับแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ห้างร้าน น้ำหอม ถ้วยชาม ที่เคยตั้งอยู่ก่อนหน้า ทำให้ถนนเส้นนี้เกิดความมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน ป้อมมหากาฬยังอยู่คู่กับป้อมพระสุเมรุ (อีก 12 ป้อมถูกรื้อไปหมดแล้ว) ตำแหน่งของป้อมมหากาฬอยู่ในบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงกับจุดบรรจบของคลองรอบกรุงกับคลองมหานาค ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญไปยังทิศตะวันออกของเมือง ป้อมมีทรงแปดเหลี่ยม มีเชิงเทินเช่นเดียวกับป้อมพระสุเมรุ แต่ต่างกันตรงรูปทรงของกำแพงบังปืนเป็นทรงสี่เหลี่ยมทั้งสามชั้น ชุมชนป้อมมหากาฬเคยตั้งถิ่นฐานหลังกำแพงเมืองใกล้กับป้อม ในรัชกาลที่ 3 และ 5 ได้โปรดให้ข้าราชบริพารที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับวัด ดนตรี และหลอมทอง เข้ามาอาศัยอยู่ บ้านในชุมชนแห่งนี้มีอายุกว่า 100 ปีขึ้นไปและไม่ผุพัง (การสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2546) ชุมชนป้อมมหากาฬแต่เดิมนั้นยังมีชื่อเสียงในทักษะการทำกรงนกและการขายพลุริมประตูป้อม อย่างไรก็ดี ชุมชนถูกรื้อถอนไปเมื่อปี พ.ศ.2561 มีเพียงความทรงจำใต้ผืนหญ้ากับป้อมมหากาฬที่หลงเหลืออยู่
อดีตห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เป็นพื้นที่ซึ่งหลอมรวมผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาวจีน ชาวตะวันตกที่เข้ามาทำการค้าขายในสยาม ไปจนถึงชาวอินเดียที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งชนชาติที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างพหุวัฒนธรรมของย่านพระนคร โดยนายอีแอม กาติ้บ จากเมืองสุรัต รัฐคุชราต เดินทางเข้ามาค้าขายในสยามเมื่อปี พ.ศ. 2439 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านการเปิดร้านขายสินค้าจากต่างประเทศบนถนนเจริญกรุงตรงสี่แยกสะพานถ่าน มีบุตรชายชื่อ นายเอจี กาติ้บ ซึ่งเป็นผู้ที่มีหัวการค้าดีทำให้ห้างกาติ้บเจริญก้าวหน้าจนที่เดิมคับแคบไป จึงย้ายมาเปิดกิจการ ณ อาคารหัวมุมถนนบำรุงเมือง ติดกับสะพานช้างโรงสี ตั้งชื่ออาคารตามชื่อบุตรชายว่า ฟาซาล (หลานของ อีแอม กาติ้บ)