เป็นวันที่ระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชาของพม่า และได้รับชัยชนะ โดยถือเอาวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. ๙๕๔ คำนวณได้ ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ (บางตำราว่า ปี พ.ศ. ๒๑๓๖) เดิมนั้น กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ ๘ เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม แต่ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิม
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล หรือภาษาปากว่า พิธีสาบานธง เป็นพิธีการทางทหารซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันกองทัพไทย และวันสำคัญของแต่ละเหล่าทัพ ผู้ที่เป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านการเข้าร่วมพิธีดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความเป็นทหารอย่างสมบูรณ์
สันนิษฐานว่ามีขึ้นครั้งแรกเท่าที่ปรากฏหลักฐานเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดขึ้นที่ลานพระราชวังดุสิต ในครั้งนั้นเป็นการประกอบพิธีของหน่วยทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือ ที่ประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีสวนสนาม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๓ กระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้แต่ละเหล่าทัพแยกกันทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน ฯ จะกระทำใน วันกองทัพไทย ซึ่งแต่เดิมกระทำในวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี และต่อมาได้เป็นเป็นวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงของวันกองทัพไทย ซึ่งวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย ทางราชการจึงได้กำหนดให้มีการกระทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล และมีการสวนสนาม เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงองค์มหากษัตริย์ กองพัน ทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน ได้กระทำพิธีทุกปี ถ้าปีใดที่กำลังพลของกองพันต้องออกไปปฏิบัติราชการชายแดน ก็จะกระทำพิธีภายใน คือพิธีสงฆ์, กล่าวคำปฏิญาณและฟังโอวาทของ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งไม่มีการสวนสนาม
ธงชัยเฉลิมพล เป็นรูปธงชาติ มีสัญลักษณ์ของแต่ละเหล่าทัพอยู่ ตรงกลางธง เช่น ธงชัยเฉลิมพล ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้หน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือ โดยมีส่วนประกอบ มีดังนี้.- ๑. ยอดคันธง เป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎทำด้วยโลหะสีทอง ๒. คันธง กว้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๔๓ เมตร ๓. คันธงระหว่างฐานช้างสามเศียรกับมุมบนของธง มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย ๔. คันธงตอนที่ตรงกับธง มีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธง หุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง ๑๕ หมุด หมุดที่ ๑ เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ ๒ เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ ๓ เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ ๔ เป็นรูปรัฐธรรมนูญหมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทหารเรือ ๕. บนยอดธงมีพระยอดธง และบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก่อนที่จะได้รับพระราชทาน จะเข้าประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา ในพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล โดยองค์พระมหากษัตริย์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากนั้น สำนักพระราชวังจะได้กำหนดวันรับพระราชทาน
ธงชัยเฉลิมพลของ กองพันทหารราบที่ ๒ ฯ ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.๐๒๐๑/๙๔๒๑ ลง ๒๕ พ.ค.๒๒ เรื่อง พระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้แก่หน่วยทหาร โดย น.ท.เชษฐ โกมลฐิติ ผู้บังคับกองพัน ฯ ขณะนั้น เป็นผู้ไปรับพระราชทาน และได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล จากกรุงเทพมหานคร มาพักอยู่ที่ กรมนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ๑ คืน รุ่งขึ้น วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๓ จึงได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล มายัง ค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี และภายหลังได้จัดพิธีฉลองขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ โดยมี น.ท.เชษฐ โกมลฐิติ เป็น ผู้บังคับกองพันฯ ในขณะนั้น ซึ่งในการประกอบพิธีในปีนี้มี น.ท.กันตินันท์ เตชะเสน เป็นผู้บังคับกองพัน ฯ